วงเสวนาถกยกระดับความสำคัญ "โอเน็ต" เบื้องต้นเห็นชอบให้ใช้ผลคะแนนโอเน็ต-จีพีเอ-ข้อสอบ รร.เป็น
สัดส่วน รับนักเรียนม.1, ม.4 "ชินภัทร" ระบุปีแรกเบาๆ เริ่มที่ 10% ก่อน แต่ให้อิสระ รร.เพิ่มน้ำหนักได้ คาดเริ่มประกาศใช้ได้ ต.ค.นี้ เผยในอนาคตอาจโยงโอเน็ตในการรับตรงและแอดมิชชั่น สทศ.ระบุปีนี้ออกกฎใหม่มีคำว่า "ผ่าน/ไม่ผ่าน" ในผลคะแนนโอเน็ต ทุกวิชาต้องได้ 25 คะแนนขึ้นไป พร้อมติดตามผลการเรียนเด็ก ม.6 ที่เข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้เห็นภาพสัมฤทธิผลการเรียนและการทดสอบที่แท้จริง
สำนัก งานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดประชุมเสวนาเรื่อง “การใช้โอเน็ตเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อ” โดยมี ผอ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผอ.รร. ผู้ปกครองและนักเรียน เข้าร่วมกว่า 150 คน โดยนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้จะเป็นการระดมความคิดเห็น เพื่อพุ่งเป้าหมายไปที่คุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กให้เพิ่มสูง ขึ้น และพุ่งเป้าไปที่การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ที่ผ่านมาถือได้ว่าอยู่ใน
ช่วงตั้งหลัก แต่ปัจจุบันสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ทำให้การสอบโอเน็ตมีเสถียรภาพมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าการใช้คะแนนโอเน็ตกับการศึกษาขั้นพื้นฐานจะไม่มีช่องว่าง เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ประโยชน์ ที่ประชุมมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้นแล้วว่าจะนำไปใช้ในการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 และระดับมหาวิทยาลัย
เบื้องต้นใช้คัดเลือกแค่ระดับ ม.1 และ ม.4 ก่อนเท่านั้น ซึ่ง สพฐ.จะกำหนดให้การรับนักเรียนต้องมีคะแนนจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1.คะแนนจากการสอบคัดเลือกของ รร. 2.คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPA) และ 3.คะแนนโอเน็ต แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่อง
สัดส่วน แต่บาง รร.เสนอให้ใช้โอเน็ต
ร้อยละ 20-50 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รร.มีความพร้อมที่จะนำผลโอเน็ตใช้ในการรับนักเรียนแล้ว แต่ สพฐ.เห็นว่าควรใช้ใน
สัดส่วนที่น้อยไปก่อนหรือ
ประมาณร้อยละ 10 แต่จะให้อิสระ รร.เพิ่ม
สัดส่วนได้ ซึ่งหากกรรมการ รร.เห็นชอบ ก็สามารถทำได้ตามความเหมาะสม ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวทาง สพฐ.จะเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งก็คาดว่าน่าจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2554 ต่อไป
นายชินภัทรกล่าว อีกว่า ส่วนกรณีที่มีคนเสนอให้นำผลโอเน็ตไปมีผลต่อการเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย โดยให้มีผลต่อการสอบรับตรงและแอดมิชชั่น เพื่อแก้ปัญหานักเรียนที่สอบตรงติดแล้วไม่สนใจสอบโอเน็ตนั้น เรื่องนี้ก็ต้องไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก่อนเรื่องแนวทางปฏิบัติในอนาคต
ยังไม่มีการนำผล 25% ผ่าน-ไม่ผ่าน มาใช้กับ นร ม.6 ในปีนี้
นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. กล่าวว่า มติที่ประชุมบอร์ด สทศ.ที่ผ่านมา มีนโยบายที่ชัดเจนขึ้นกับการจัดสอบโอเน็ตตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 สทศ.ที่จัดสอบในเดือน ก.พ.55 จะให้ตัวแทนครูจาก สพฐ.มาเป็นผู้ออกข้อสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาการออกข้อสอบไม่ตรงกับเนื้อหาการเรียน โดยตัวแทนครูต้องมีคุณสมบัติ อาทิ ต้องมีประสบการณ์ในการออกข้อสอบ ไม่ได้เปิดสอนพิเศษหรือกวดวิชาอยู่ในปัจจุบัน และการสอบโอเน็ตในปีนี้ สทศ.จะทำวิจัยทำนายผลสัมฤทธิ์การสอบ เพื่อดูว่าการออกข้อสอบมีปัญหาหรือไม่ และติดตามผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6 ที่จะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เพื่อดูว่าผลสอบที่ได้คะแนนมากสอดคล้องกับผลการเรียนที่ดีด้วยไหม หรือว่าที่ได้คะแนนมากเป็นเพราะความบังเอิญ โดยการวิจัยดังกล่าวจะติดตามนักเรียนในทุก
ช่วงชั้นที่สอบโอเน็ต ได้แก่ ป.6 ม.3 และ ม.6
“สทศ.ยังตั้งกฎใหม่ที่จะใช้กับการสอบโอเน็ตในปีนี้ด้วย นอกจากจะระบุคะแนนสอบโอเน็ตแล้ว ยังให้มีคำว่าสอบผ่านและสอบไม่ผ่านด้วย เพื่อดูว่ามีเด็กคนไหนที่ตอบมั่ว โดยกำหนดให้นักเรียนต้องทำคะแนนแต่ละวิชาเกิน 25 คะแนนขึ้นไป หากนักเรียนคนไหนมีคะแนนไม่ผ่านตามที่กำหนด ก็จะนำมาพิจารณาเพื่อหาว่ามั่วจริงหรือไม่ เพื่อให้สอบไม่ผ่านต่อไป” นายสัมพันธ์กล่าว.
ขอบคุณ: นสพ ไทยโพสต์