จะเปลี่ยนอีกแล้วหรือ O-NET ปรับเป็นองค์ประกอบแอดมิชชั่น แล้วไม่นำมาคิดคะแนนด้วย อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงโครงการของ รมช.ศึกษาธิการ ยังไม่ได้รับการอนุมัติแต่อย่างใด น้องๆลองอ่านเนื้อข่าวดูนะครับ ว่าเขาจะเอาเรื่องนี้ไปคุยกันในวันที่ 25 ธค 2553 นี้ว่าจะเอาอะไรยังไง จริงๆพี่หนึ่งเห็นด้วยนะเรื่องที่จะไม่เอาคะแนน O-net มาคิดน้ำหนักเพราะจุดประสงค์ของ O-net ใช้เพียงแค่วัดค่าน้ำหนักของแต่ละโรงเรียน แต่มาเปลี่ยนอะไรเอาตอนนี้ O-net ที่สอบเดือน กพ. นี่มันอีกสองเดือนเอง แล้วจะมาเปลี่ยนกันตอนนี้เลยหรือ หวังว่าซานตาครอสจะมอบของขวัญชิ้นเบ้งๆให้คนคิดนะครับ จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆยังงี้ พี่หนึ่งปวดหัวแทน
“ไชยยศ” ดัน ปรับโอเน็ตเป็นเพียงองค์ประกอบแอดมิชชั่นไม่ต้องนำมาคิดคะแนน
วันนี้(21 ธ.ค.) นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ ตนได้หารือร่วมกับตัวแทนที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และตัวแทนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับองค์ประกอบและค่าน้ำหนักในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบัน อุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่น ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าองค์ประกอบและค่าน้ำหนักแอดมิชชั่น ที่ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) กำหนดให้ใช้ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย(GPAX) 20 % แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือO-NET 30 % แบบทดสอบวัดความถนัดทั่วไปหรือGAT10-50 %และแบบทดสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ PAT 0-40 % ทำให้บางคณะไม่สามารถคัดเลือกเด็กได้ตรงตามความต้องการได้ จนต้องหันไปรับตรงเพิ่มมากขึ้น อย่างคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ของจุฬาฯ มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากทปอ.ให้ค่าน้ำหนักคะแนนในกลุ่มวิทยาศาสตร์น้อยเกินไป ขณะที่ทวท.พยายามผลักดันให้มีการเพิ่มค่าน้ำหนักการสอบของกลุ่มวิทยาศาสตร์ หลายครั้ง แต่ทปอ.ไม่เห็นด้วย และยังยืนมติเดิมมาตลอด
นาย ไชยยศ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 25 ธ.ค. ที่จะมีการประชุมทปอ. นั้นตนจะเสนอแนวคิดให้มีการปรับค่าน้ำหนักของวิชาต่าง ๆที่จะใช้ในแอดมิชชั่น โดยเฉพาะวิชาในกลุ่มวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเสนอให้ใช้ O-NET เป็นองค์ประกอบในการแอดมิชชั่นเท่านั้น แต่ไม่ต้องนำมาคิดเป็นคะแนน โดยอาจจะกำหนดคะแนนขั้นต่ำของO-NET ในแต่ละวิชาควรจะจะเป็นเท่าใด เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการสอบO-NET ไม่ใช่ต้องการนำมาใช้ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย แต่เป็น
การวัดมาตรฐานของโรงเรียนต่าง ๆว่ามีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร และนำผลไปปรับปรุงโรงเรียน
นายไชยยศ กล่าวต่อว่า ดังนั้นในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ตนจะไปหารือร่วมกับ ทปอ.เพื่อเสนอให้ปรับปรุงองค์ประกอบและ
สัดส่วนในการแอดมิชชันให้เป็นไปตาม ความต้องการของแต่ละสาขาวิชา โดย ทปอ.อาจจะคงองค์ประกอบ 4 ตัวหลักไว้แต่หากคณะใดต้องการสอบในวิชาพิเศษเพื่อให้สามารถคัดเลือกเด็กเข้า เรียนได้ตรงตามต้องการก็ให้จัดสอบให้ โดยแต่ละคณะจะต้องบอก
สัดส่วนและองค์ประกอบที่ต้องการมายังศูนย์กลางการแอดมิ ชชัน ซึ่งหากทาง ทปอ.ยอมปรับทางคณะวิทย์และคณะวิศวะ จุฬาฯ เองก็บอกว่ายินดีจะเข้าร่วมแอดมิชชันกลางเพิ่มขึ้น
“ทั้งหมดที่ผมพยายามทำไม่ได้เป็นการเข้าไป ปรับเปลี่ยนอำนาจของ ทปอ.และมหาวิทยาลัยแต่อยากให้มาร่วมกันหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยผู้ ปกครองลดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการสอบของเด็กและให้เด็กวิ่งสอบน้อย” รมช.ศธ.กล่าว
ที่มา: นสพ เดลินิวส์