กรมอุตุฯ ประกาศพายุเกมี เข้าไทย 6 - 7 ตุลาคมนี้ ทำฝนตกหนักทุกภาค คาดว่าปริมาณน้ำฝนเกิน 90.1 มิลลิเมตร เตือนประชาชนระมัดระวัง งดนำเรือเล็กออกจากฝั่ง
วันนี้ (2 ตุลาคม) เมื่อเวลา 04.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า พายุโซนร้อน "เกมี" (GAEMI) จะทวีกำลังแรงขึ้นจากบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่าง
ประมาณ 700 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ ละติจูด 17.0 องศาเหนือ และ ลองจิจูด 114.8 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง
ประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุนี้เกือบจะไม่เคลื่อนที่ และใน
ช่วงวันที่ 2 - 3 ตุลาคม 2555 ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ ใน
ช่วงวันที่ 4 - 5 ตุลาคม คาดว่า พายุดังกล่าวจะเคลื่อนขึ้นฝั่งตอนกลางของประเทศเวียดนาม และใน
ช่วงวันที่ 6 - 7 ตุลาคม จะเคลื่อนผ่านประเทศลาวตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ของประเทศไทยตาม
ลำดับ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่อยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะอากาศดังกล่าว สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบน และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
พร้อมกันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังระบุอีกว่า ใน
ช่วงวันที่ 2-3 ตุลาคมนี้ ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกมีกำลังอ่อนลง ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย
ขณะที่ นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า พายุเกมีนั้น ถือว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีคือ น้ำจะเข้าไปเติมปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนอุบลรัตน์ทางภาคอีสาน ส่วนภาคเหนือตอนล่างจะเติมที่เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล ที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียง 50 - 60% ส่วนผลเสียคือพื้นที่ใต้เขื่อนจะได้รับผลกระทบเพราะปริมาณน้ำฝนมีมาก ซึ่งคาดว่าจะเกิน 90.1 มิลลิเมตร
นอกจากนี้ นายสมชาย ยังกล่าวอีกว่า ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ทั้งนี้ฝากไปยัง กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ ให้วางแผนจัดการน้ำเหนือที่ไหลลงสู่ภาคกลางและลงสู่ทะเลต้องไม่ให้ตรงกับ
ช่วงที่ทะเลหนุนสูงด้วย เนื่องจากคาดว่า ในวันที่ 7 ตุลาคม พายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวออกจากประเทศไทย รวมถึงหลังจากนี้ ก็อาจจะมีพายุลูกอื่นเข้ามาอีกจนกว่าจะสิ้นเดือนตุลาคม
ขอบคุณ: กะปุก