′ม.เอกชน′โอด ยอดรับ ′น.ศ.′ดิ่งเหว เหตุ ′ม.รัฐ′เปิดช่องรับนักศึกษาเพียบ ทั้ง′โควตา-รับตรง-แอดมิสชั่นส์กลาง พร้อมอาชีวศึกษาเตรียมเปิดรับถึง′ ป.ตรี′
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นายชวลิต หมื่นนุช รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ในฐานะเลขาธิการสมาคมสถาบันอุดม ศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ของการรับนักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2555 ที่ผ่านมา พบว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนรับนักศึกษาได้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านๆ มา สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยรัฐเพิ่มช่องทางในการเข้าศึกษาต่อมากขึ้น ทั้งระบบรับตรง โควตา การคัดเลือกในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์กลาง ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นต้น โดยเฉพาะระบบ รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ของ ทปอ.ทำให้เกิดปัญหาพอสมควร เพราะเมื่อรับตรงเสร็จแล้ว มหาวิทยาลัยจะรู้จำนวนตัวเลขนักศึกษาที่แน่นอนก่อนเปิดรับสมัครแอดมิสชั่นส์กลาง แถมมีการเพิ่มจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยรัฐ ผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสอนภาคพิเศษ หรือการเปิดศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งในจังหวัดต่างๆ
"การเปิดรับนักศึกษาในช่องทางต่างๆ ของมหาวิทยาลัยรัฐ ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะคนส่วนใหญ่ยัง มีค่านิยมเลือกเรียนมหาวิทยาลัยรัฐ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียง ที่ผ่าน มาในแวดวงนักวิชาการด้านการศึกษาเอง ยัง วิพากษ์วิจารณ์ว่ามหาวิทยาลัยรัฐควรจะเลิกระบบรับตรง และให้มีแต่แอดมิสชั่นส์กลางเท่านั้น" นายชวลิตกล่าว
นายชวลิตกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนเองมีสถาบันเกิดใหม่ มากขึ้น ทำให้ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาเกิดขึ้นเกือบทั่วทุกภาคของประเทศ จะเห็นได้ว่าจำนวนสถาบันอุดมศึกษาที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาที่ยังมีเท่าเดิม และกำลังจะลดลง เพราะรัฐบาลเร่งส่งเสริมให้นักเรียนหันไปเรียนต่อด้านอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังคนพัฒนาประเทศ ต่อไปเมื่อสายอาชีวศึกษาเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีในปีการศึกษา 2556 ก็มีแนวโน้มว่านักศึกษาจะเลือกเรียนในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนน้อยลง ไปอีก นอกจากนี้ เท่าที่ดูในภาพรวมแล้ว สถาบันอุดมศึกษาที่เพิ่มที่นั่งเรียนส่วนใหญ่ รับนักศึกษาได้ไม่เต็มจำนวน เช่น เปิดรับ 50 คน แต่รับได้เพียง 10 คน หรือเปิดรับ 100 คน แต่มีผู้สมัครเพียง 30 คนเท่านั้น
"มหาวิทยาลัยเอกชนใหญ่ๆ ที่เปิดมานาน และมีชื่อเสียงติดตลาดแล้ว คงมีปัญหาไม่มาก แต่ที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ คือมหาวิทยาลัยเอกชนที่เกิดใหม่ ยังไม่มีชื่อเสียง หรือมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพอยู่ในขณะนี้ ถ้าไม่มีนักศึกษาเข้าเรียนมากพอ อาจถึงขั้นต้องปิดตัวลง เพราะโดยปกติแล้วมหาวิทยาลัยเหล่านี้ จะอยู่ได้เพราะเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ดังนั้น ถ้าจำนวนนักศึกษาน้อย สถาบันก็อยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยทั้ง 4 กลุ่ม คือกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กลุ่ม ทปอ. กลุ่ม สสอท. และกลุ่มที่ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) ได้หารือถึงปัญหาต่างๆ ร่วมกันมาโดยตลอด แต่ถ้า สสอท. บอกว่า สถาบันเอกชนมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น อยากให้กลุ่ม ทปอ.ช่วยยกเลิกระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ หรือเปิดศูนย์นอกสถานที่ตั้งให้ น้อยลง เพื่อกระจายเด็กมาเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนบ้าง จะได้รับคำตอบว่าต้องนำไปหารือร่วมกันก่อน สุดท้ายก็เงียบหายไป" นายชวลิตกล่าว
นายชวลิตกล่าวอีกว่า ต่อไปใครที่คิดเปิดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จะต้องคิดให้หนัก เพราะอาจเสี่ยงต่อการขาดทุนได้ ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยบางแห่งอยากจะปิดตัวเอง แต่ก็ปิดไม่ได้ เพราะยังมีนักศึกษาเรียนอยู่ และแม้ว่าจะเปิดสอนมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่มีนักศึกษาไม่ถึง 500 คน
นางมัทนา สานติวัตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (มกท.) กล่าวว่า มกท.ยังไม่ได้สรุปจำนวนรับนักศึกษาที่แน่นอน แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นแล้ว ยอมรับว่าจำนวนรับนักศึกษาลดลงบ้าง อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ปีที่แล้ว เกิดน้ำท่วม ทำให้สภาพเศรษฐกิจของหลายครอบครัวยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้น การจะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ อาจต้องมีค่าใช้จ่ายมาก และแน่นอนว่าการที่มหาวิทยาลัยรัฐเพิ่มจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบกับจำนวนรับของมหาวิทยาลัยเอกชนแน่นอน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะเด็กอาจเลือกเรียนใกล้บ้านแทน โดยไม่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่วนคนที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ต้องเป็นคนที่มีความตั้งใจจริงๆ ขณะเดียวกัน สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเล็กๆ จะลำบาก เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนต้องยืนด้วยขาตัวเอง ด้วยเงินค่าเทอมของนักศึกษา คนทั่วไปคิดว่ามหา วิทยาลัยเอกชนค่าเรียนแพง ทั้งที่มหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งมีค่าเรียนบางโปรแกรมแพงกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนอีก
"ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจจะทำให้มหา วิทยาลัยเอกชนบางแห่งเกิดสภาวะล้มหายตายจาก หรือจำเป็นต้องขายกิจการ หรืออาจมีสถาบันต่างชาติเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ คงต้องเข้าใจมหาวิทยาลัยรัฐด้วยเช่นกันว่า คงไม่สามารถไปควบคุมจำนวนนักศึกษาของแต่ละแห่งได้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเอกชนคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องมีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ เพื่อเอาตัวรอดให้ได้" นางมัทนากล่าว
ที่มา:หน้า1 มติชนรายวัน 6 สิงหาคม 2555